วันพฤหัสบดี, มีนาคม 15, 2561

ในวันที่ฉันป่วยหนัก ณ ร.พ.รัฐของประเทศฟินแลนด์

เมื่อฉันป่วย ณ ฟินแลนด์
หน่วยการรักษาพยาบาลในฟินแลนด์ แบ่งออกเป็น สี่หน่วย คร่าวๆดังนี้
  • หมอส่วนตัว/ สวัสดิการรักษาพยาบาลจากนายจ้าง (omalääkäri / työterveyslääkäri) สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยเล็กน้อย เป็นหวัด ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน ปวดกล้ามเนื้อ ข้อมือหรือข้อเท้าแพลงหรือต้องการเพียงขอใบสั่งยา หรือใบรับรองแพทย์เพื่อลาพักงาน ส่วนใหญ่จะเป็นคลินิคของเอกชน แต่ที่นี่ไม่สามารถรักษาครอบคลุมได้ทุกโรค
  • ศูนย์อนามัยประจำเมือง (terveyskeskus) ส่วนใหญ่จะให้บริการสำหรับคนไข้นอก เช่น ปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ห้องแล็บ ห้องเอ็กซเรย์ ตรวจรักษาฟัน ตรวจร่างกายเพื่อขอใบรับรองแพทย์ ตรวจสุขภาพจิต คลินิคแม่และเด็ก เป็นต้น ยกเว้นกรณีที่คนไข้ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นในแผนกพักฟื้น กรณีนี้คนไข้จะถูกรับตัวเป็นคนไข้ใน มีพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลคอยดูแล และมีหมอคอยควบคุมให้การรักษาตามอาการ
  • แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล (päivystys) สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยนอกเวลาทำการของศูนย์อนามัยประจำเมือง ป่วยเฉียบพลัน หรือได้รับอุบัติเหตุฉุกเฉิน ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในโรงพยาบาลประจำเขต
  • โรงพยาบาลประจำเขต (sairaala) สำหรับผู้ที่ป่วยหนัก ต้องเข้ารับการรักษาเป็นคนไข้ใน หรือต้องมารับการรักษาโรคเฉพาะทาง เพราะที่นี่มีเครื่องมือพร้อม และบุคลากรและแพทย์เฉพาะทางมากมาย เป็นศูนย์รวมผู้ป่วยจากหลายๆเมืองที่อยู่ในเขตเดียวกัน
ตัวเองเป็นคนที่มีสุขภาพค่อนข้างแข็งแรง นอกจากอาการแพ้ฝุ่นที่เป็นโรคประจำตัวแล้ว นานครั้งจะติดหวัดจากคนที่บ้านหรือที่ทำงาน และในชีวิตที่ผ่านมามีเพียงครั้งเดียวที่ต้องนอนโรงพยาบาล นั่นคือ เมื่อคลอดลูกชายในปี พ.ศ. 2548 ประมาณสองคืนที่จังหวัดบ้านเกิด หลังจากที่ย้ายมาพำนักในประเทศฟินแลนด์ในปี พ.ศ. 2554 เมื่อใดก็ตามที่มีอาการป่วยไข้ที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ เราจะใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลจากคลินิคเอกชน (lääkärikeskus) ที่นายจ้างจัดให้ เพราะสะดวกรวดเร็วกว่าเข้ารักษากับศูนย์อนามัยประจำเมือง ที่เรียกว่า terveyskeskus ซึ่งตัวเองนั้นเคยแต่ใช้บริการในเรื่องเกี่ยวกับทันตกรรม อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน และล่าสุดคือรักษารากฟันเท่านั้น และตัวเองไม่เคยมีอาการป่วยรุนแรง หรือได้รับอุบัติเหตุจนต้องใช้บริการฉุกเฉินจากหน่วยงานของรัฐ หรือโรงพยาบาลมาก่อนเลย ดังนั้นการที่จู่ๆตัวเองต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างแดนจึงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

หนึ่งวันก่อนมีอาการป่วย ยังไปทำงานตามปกติ 
อาการป่วยเริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม ซึ่งตอนเช้าก็ยังไปทำงานตามปกติ แต่จู่ๆก็รู้สึกหนาวสั่น มีอาการไข้ขึ้นสูง วัดได้ 38 องศา จึงลางานกลับมาพักที่บ้าน วัดไข้อย่างต่อเนื่อง แต่อุณหภูมิก็ยังสูง บางครั้งสูงถึง 39 องศา ในวันต่อมาจึงลางานเพื่อพักดูอาการอีกหนึ่งวัน แต่ในวันนี้เริ่มเจ็บบริเวณท้องน้อยและรอบๆสะดือ ลามไปถึงด้านหลัง นั่งหลังตรงไม่ได้เลย สิ่งแรกที่สงสัยคือ น่าจะเป็นอาการของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเคยเป็นมาก่อน ในวันเสาร์ที่ 3 มีนาคมจึงไปหาหมอคลินิคเอกชนที่เป็นสวัสดิการของที่ทำงาน ผลตรวจเลือดและปัสสาวะ บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อบริเวณไต ซึ่งหมอแนะให้เข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลดีกว่า เพราะจะได้รับยาได้ทันท่วงที จึงทำใบส่งตัวเข้ารักษาที่ร.พ.ของรัฐที่ใกล้ที่สุด ซึ่งต้องขับรถนานกว่าครึ่งชั่วโมง

เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ทำการตรวจเลือดและปัสสาวะซ้ำอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังขอตรวจเชื้อ influenssa พร้อมด้วยเอ็กซเรย์ปอดด้วยเพราะอาการของเราคล้ายคลึงกับอาการของคนไข้ที่ติดเชื้อนี้ คือเจ็บบริเวณท้องและมีไข้สูง เมื่อผลตรวจออกมาไม่พบสิ่งผิดปกติ และไม่เข้าข่ายอาการของโรคไตอย่างที่หมอคนแรกวินิจฉัย แพทย์ตรวจเช็คบริเวณช่องท้องก็ไม่พบความผิดปกติของอวัยวะบริเวณนี้ เช่น ไส้ติ่งไม่เจ็บแสดงว่าไม่อักเสบ เป็นต้น ลำดับท้ายสุดคือได้รับการส่งตัวไปตรวจกับสูตินรีแพทย์ ซึ่งทำการตรวจภายในและตรวจอัลตร้าซาวน์ในช่องคลอด จึงพบว่ามีการติดเชื้อบริเวณปีกมดลูก และพบฝีในรังไข่ข้างหนึ่ง นอกจากนี้ยังเช็คได้ว่าห่วงคุมกำเนิดที่เราใส่มาหลายปีนั้นเคลื่อนตำแหน่งจนเกือบหลุดออกมานอกมดลูก แพทย์จึงทำการถอดห่วงออก และวางแผนรักษาอาการติดเชื้อนี้โดยต้องรับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด และ/หรือผ่าตัดหากมีความจำเป็น

เตียงที่ต้องนอนรักษาตัว พร้อมทั้งเสื้อ กางเกง ชั้นใน ถุงเท้า เสื้อคลุมยาว
และรองเท้าแตะ ที่พยาบาลนำมาให้เปลี่ยน
 เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงต้องเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในโดยไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ สิ่งที่ติดตัวมาด้วยในกระเป๋าสะพายมีเพียงโทรศัพท์ ผ้าเช็ดหน้า ลิปมัน หนังสืออ่านหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้ามเท่านั้น ขณะนั้นเป็นเวลาห้าโมงเย็นแล้ว สามีที่ขับรถมาส่งและมานั่งรอตรวจเป็นเพื่อนด้วยทั้งวันนั้นก็ต้องกลับบ้าน เพราะไม่อนุญาตให้ญาตินอนเฝ้าไข้ พยาบาลนำชุดคนไข้มาให้เปลี่ยน พร้อมทั้งเจาะเข็มต่อกับเส้นเลือดเพื่อให้ยาปฎิชีวนะทันที ได้ทานอาหารเย็นประมาณเกือบหกโมงเย็น จากนั้นจึงพยายามนอนพักเพียงลำพังในห้องพักผู้ป่วยที่มีสองเตียง เที่ยงคืนได้รับยาปฏิชีวนะครั้งที่สอง และครั้งที่สามในเวลาตีสี่
รับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด
เช้าวันต่อมา ( อาทิตย์ที่ 4 มีนาคม ) มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ขับถ่ายอย่างเจ็บปวดจนถึงขนาดที่ต้องกดสัญญาณเรียกพยาบาลเพื่อขอยาแก้ปวดในขณะที่ยังนั่งอยู่ในห้องน้ำ พยาบาลฉีดยาแก้ปวดให้ทางเส้นเลือด และรอจนเราอาการทุเลา จึงช่วยประคองไปยังเตียงผู้ป่วย วันนั้นไม่มีความรู้สึกใดๆเลยนอกจากความเจ็บปวด จากบริเวณหน้าท้องลามขึ้นมาใต้หน้าอก ทานอาหารแทบไม่ไหว มีอาการคลื่นเหียน อยากอาเจียนอยู่เกือบตลอดเวลา และก็ขยับตัวลำบาก แต่ก็ยังได้รับยาปฏิชีวนะตามปกติ แพทย์สูติฯเข้ามาเช็คอาการแล้วจึงแนะว่าเราควรจะได้รับการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด หากคิวผ่าตัดไม่ยาว เราจะเข้ารับการผ่าตัดภายในวันนั้นเลย แล้วจึงสั่งงดอาหารและน้ำ แต่ยังได้รับน้ำเกลือและยาแก้ปวดอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งประมาณบ่ายสามโมง หมอแจ้งให้ทราบว่าได้คิวผ่าตัดเวลาหกโมงเย็น และในเวลาเดียวกันหมอก็คุยทำความเข้าใจกับเราและสามีที่มาเยี่ยมในตอนนั้นว่าจะ เป็นการผ่าตัดส่องกล้อง (laparoscopy) คือ การใช้กล้องส่องเข้าไปดูอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เพื่อวินิจฉัยและทำการผ่าตัด โดยมีแผลเล็กๆ 2-3 แผล ขนาด 0.5-1.0 เซนติเมตร และเราได้ยินยอมให้แพทย์ตัดหรือกำจัดอวัยวะที่เสียหายออกจากร่างกาย ตามความจำเป็นและเห็นสมควรของแพทย์

จากนั้นพยาบาลได้นำเสื้อสำหรับคนไข้ใส่ในห้องผ่าตัดมาให้เปลี่ยน พร้อมกับทำความสะอาดบริเวณสะดือที่จะถูกเจาะเพื่อสอดกล้องในระหว่างการผ่าตัด และในช่วงที่รอรับการผ่าตัด เราก็ยังได้รับยาปฏิชีวนะตามปกติ ซึ่งทำให้เรารู้สึกคลื่นเหียนและอาเจียนก่อนเข้าห้องผ่าตัดเพียงครึ่งชั่วโมง
เวลาหกโมงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561 เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ต้องเข้าห้องผ่าตัด ในใจตอนนั้นมั่นใจในฝีมือแพทย์และเจ้าหน้าที่ของที่นี่มากจนไม่กลัว ไม่กังวลอะไรเลย เพียงรู้สึกตื่นเต้นนิดหน่อยเพราะเป็นครั้งแรก พยาบาลเข็นเตียงเราออกมาจากห้องพักลงลิฟท์มายังชั้นใต้ดินที่เป็นห้องผ่าตัด ในนั้นมีพยาบาลจำนวนหนึ่งสวมเครื่องแบบผ่าตัดรออยู่แล้ว มีการซักถามอาการ ซักไซ้ประวัติการรักษาของเรา ก่อนที่จะบอกให้เราถอดกางเกงและขึ้นไปนอนบนเตียงขาหยั่ง ลักษณะเหมือนเตียงในห้องตรวจภายใน เมื่อนอนลง พยาบาลนำผ้าห่มมาคลุมให้ตั้งแต่อกถึงต้นขา จากนั้นทำการรัดสายรอบเท้าให้ติดกับขาหยั่ง และรัดข้อมือติดกับเตียง พร้อมทั้งติดเครื่องมือวัดความดัน และเครื่องมือวัดชีพจรบนแขนและนิ้วมือข้างซ้าย ส่วนแขนข้างขวานั้น วิสัญญีแพทย์ต่อท่อยาสลบเข้ากับเข็มที่เจาะเข้าในเส้นเลือดอันเดียวกับที่ใช้รับยาปฏิชีวนะนั่นเอง เมื่อเตรียมคนไข้พร้อมแล้ว พยาบาลก็นำหน้ากากอ็อกซิเจนมาอังเหนือจมูกของเราพร้อมกับสั่งให้หายใจเข้าลึกๆ จำได้ว่าเราหายใจเข้าไปเพียงสี่ครั้งแล้วหลังจากนั้นก็ไม่รู้สึกตัวอีกเลย
เมื่อรู้สึกตื่นขึ้นมาอีกครั้งนั้น ได้ยินเหมือนใครกำลังเรียกชื่อเราและอธิบายอะไรบางอย่าง แต่เพราะรู้สึกง่วงมากจึงฟังไม่ได้ศัพท์ ทำได้เพียงพยักหน้าอย่างสลึมสลือ จากนั้นรู้สึกได้ว่าเตียงถูกเข็นกลับมายังห้องพัก เหลือบมองนาฬิกาบนผนังที่ตอนนั้นบอกเวลา 21.50 น. แล้วก็หลับไปอีกที จากนั้นก็หลับๆตื่นๆเมื่อพยาบาลเข้ามาดูแล พาเข้าห้องน้ำ ให้ดื่มน้ำผลไม้ และให้ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะและน้ำเกลือ

ในรุ่งเช้าของวันต่อมา (จันทร์ ที่ 5 มีนาคม) เรายังรู้สึกอ่อนเพลีย และมีลมในช่องท้องตลอดเวลา ไม่อยากดื่มน้ำหรือทานอาหารเลย พยาบาลจึงให้เลือดและน้ำเกลือผสมกลูโคสทางเส้นเลือดแกเรา แอบถลกเสื้อดูแผลผ่าตัด มีอยู่ทั้งหมดสามแผล แผลที่รู้สึกเจ็บมากที่สุดคือแผลที่ผ่าเหนือสะดือ เพราะอยู่กลางลำตัวพอดี ทำให้เอนตัวลุกนั่งหรือนอนลำบากกว่าแผลอื่น ช่วงสายๆแพทย์ที่ทำการผ่าตัดเข้ามาเช็คดูแผลและสรุปรายงานการผ่าตัดให้รู้สั้นๆว่า


แพทย์ส่องกล้องแล้วพบการอักเสบขยายวงครอบคลุมอวัยวะในอุ้งเชิงกราน รวมถึงส่วนหนึ่งของตับก็ติดเชื้อด้วย ส่วนอวัยวะที่ติดเชื้อรุนแรงที่สุดคือ ท่อนำไข่ทั้งสองข้าง แพทย์ต้องตัดและกำจัดออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังพบฝีบนรังไข่ข้างหนึ่ง หมอจึงตัดฝีให้ จากนั้นจึงทำการล้างฆ่าเชื้ออวัยวะบริเวณนี้ ผลจากการตัดท่อนำไข่สองข้าง คือเราจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้โดยธรรมชาติ คือสเปิร์มที่เดินทางผ่านเข้ามาในมดลูกจะไม่สามารถเข้าผสมกับไข่ที่ออกมาจากรังไข่ เพราะเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างรังไข่กับมดลูกนั้นถูกตัดขาด หากต้องการตั้งครรภ์ มีวิธีเดียวเท่านั้นคือ ทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilisation หรือ IVF) ซึ่งทั้งเราและสามีก็ได้เตรียมใจเอาไว้แล้วก่อนผ่าตัด ว่าหากมีวิธีใดที่จำเป็นที่ต้องรักษาอาการป่วยของเรา แพทย์สามารถวินิจฉัยและตัดสินใจได้เต็มที่ โชคดีที่การผ่าตัดนำท่อนำไข่ออกไปนั้นไม่มีผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนเพศแต่อย่างใด เพราะรังไข่ทั้งสองยังอยู่ครบถ้วนและยังผลิตฮอร์โมนได้ตามปกติ

วันนั้นทั้งวันเวลาผ่านไปอย่างช้าๆ นอนหลับๆตื่นๆเกือบจนกระทั่งเวลาบ่ายสามโมงเราจึงมีอาการดีขึ้นมาก  สามารถลุกขึ้นนั่งทานอาหารเองได้เองในตอนเย็นวันนั้นเอง พอดีกับที่มีผู้ป่วยรายใหม่วัยเกษียณเข้ามานอนบนเตียงอีกเตียงที่ว่างอยู่ในห้องเดียวกัน ได้สนทนากันบ้างจึงรู้สึกอุ่นใจที่มีเพื่อนคุยแก้เหงา ก่อนนอนพยาบาลเข้ามาแกะเทปปิดแผลออก แล้วอนุญาตให้เราอาบน้ำสระผมได้ โดยกำกับไม่ให้ถูสบู่ไปโดนแผล ห้ามล้วงหรือเกาแผลผ่าตัด การอาบน้ำครั้งแรกด้วยตัวเองหลังผ่าตัด แม้จะทุลักทุเล แต่ก็เป็นไปด้วยดี หลังจากเข้านอนเราก็ได้รับยาปฏิชีวนะตามปกติ แต่จำได้ว่าในตอนกลางคืนเรารู้สึกเวียนหัวและมวลท้องมากจนอาเจียนออกมา พยาบาลต้องฉีดยาแก้เมาให้เรา

ต้องล้างมือจนมือแห้งเปื่อยเลยเชียว
วันอังคารที่ 6 มีนาคม เราตื่นขึ้นมาเพราะปวดท้องหนัก จึงลุกเข้าห้องน้ำและถ่ายออกมาเป็นของเหลว แต่จากนั้นไม่นานก็รู้สึกปวดท้องอีกครั้งและถ่ายออกมาเหมือนเดิม เป็นอย่างนี้ทุกครึ่งชั่วโมง ไม่ว่าจะทานหรือดื่มอะไรเข้าไปก็ถ่ายออกมาเป็นของเหลว หมอแวะมาดูอาการแล้วขอนำตัวอย่างไปตรวจ ในระหว่างนี้เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื่อโรคที่อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย พยาบาลจึงย้ายเพื่อนที่เป็นผู้ป่วยรายใหม่ไปยังห้องอื่นและติดป้าย 'erityshuone' คือคล้ายๆกับห้องควบคุมเชื้อโรค คือห้ามเราออกจากห้อง และทุกครั้งที่พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่มีกิจเข้ามาในห้องนี้ จะต้องสวมผ้าปิดจมูกและเสื้อคลุมแบบใช้แล้วทิ้ง และสั่งให้เราล้างมือแล้วตามด้วยเจลฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ตอนนั้นเองเรารู้สึกเบื่อและเหงามากๆเลย  ตัวเองนั้นรู้สึกแข็งแรงกว่าเมื่อวานมาก จึงอยากลองออกไปเดินเล่นนอกห้อง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากเพราะยังมีอาการท้องเสียและยังถูกสั่งห้ามออกนอกห้อง ทำได้เพียงนอนดูทีวี และอ่านหนังสือฆ่าเวลา กว่าอาการท้องเสียจะทุเลาก็ล่วงเลยไปเป็นเวลาเย็นมากแล้ว คืนนี้จึงนอนหลับสนิทกว่าคืนก่อนเพราะน่าจะเพลียจากอาการท้องเสียมาทั้งวัน


ยาชนิดใหม่ที่ทำให้ง่วงหงาวกว่าเดิม
วันพุธที่ 7 มีนาคม ตื่นตามปกติ ขับถ่ายอย่างปกติ และเจ้าหน้าที่แล็บมาเจาะเลือดไปตรวจเหมือนเช่นทุกวัน ซึ่งทุกคนก็ยังสวมผ้าปิดจมูกและเสื้อคลุมเหมือนเมื่อวาน เราจึงแจ้งพยาบาลว่า อาการท้องเสียของเราดีขึ้นแล้ว แต่พยาบาลยืนยันว่าต้องรอผลตรวจจากตัวอย่างที่ได้นำไปส่งตรวจเมื่อวาน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อโรคที่สามารถติดต่อใครได้ เราจึงถูกขังเดี่ยวต่อไป จนกระทั่งประมาณบ่ายสามโมง ผลออกมาเป็นลบ ไม่มีเชื้ออันตรายใดๆ ทุกอย่างจึงกลับสู่สภาพเดิม เราเริ่มเหงามากและรอวันที่หมอจะอนุญาตให้กลับบ้าน แต่เพราะผลแล็บค่า P-CRP ที่ตรวจจากเลือดทุกเช้า เพื่อวัดระดับการติดเชื้อหรืออักเสบในร่างกาย ยังไม่มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ เราจึงยังต้องรับยาปฏิชีวนะต่อไป
ค่า P-CRP ของแต่ละวันมีดังนี้
อาทิตย์ที่ 4 มีนาคม = 117 mg/l (ก่อนเข้ารับการผ่าตัด)
จันทร์ที่ 5 มีนาคม = 204 mg/l (หลังผ่าตัด)
อังคารที่ 6 มีนาคม = 171 mg/l (ก่อนมีอาการท้องเสีย)
พุธที่ 7 มีนาคม = 178 mg/l (หลังอาการท้องเสีย)

ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม เรารู้สึกดีขึ้นมาก สามารถเดินเล่นช้าๆนอกห้องเป็นระยะทางใกล้ๆ และยกถาดอาหารไปเก็บนอกห้องได้ ส่วนผล P-CRP ก็ลดต่ำลงมากคือ เท่ากับ 108 mg/l ในวันนี้ แต่ก็ยังสูงมาก (พยาบาลกระซิบว่า หมอจะพิจารณาให้เปลี่ยนจากการรับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเป็นการทานยาปฏิชีวนะแบบเม็ดและปล่อยให้กลับบ้าน หากค่านี้ต่ำกว่า 70 mg/l คือยังมีการอักเสบอ่อนๆแต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดเวลา) วันนี้หมอจึงเปลี่ยนยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ระดับการอักเสบลดลง แต่ยาชนิดใหม่นี้กลับทำให้เราง่วงซึมมาก วันนี้ก็เป็นอีกวันที่ได้รับอนุญาตให้อาบน้ำและเข้านอนทันทีเพราะง่วงมากเป็นพิเศษ
ยาแก้ปวดที่พยาบาลให้มาประจำคือ Ibuprofen 600mg และ Paracetamol 1g

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม ตื่นขึ้นมาด้วยความกระชุ่มกระชวย ไม่เจ็บแผลเลย จึงไม่ทานยาแก้ปวดอีกเลย นั่งนอนและลุกเดินได้โดยไม่มีความเจ็บปวด รู้สึกดีมาก และมั่นใจมากว่าวันนี้จะได้กลับบ้านซะที เช้าตรู่เจ้าหน้าที่แล็บมาเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจตามปกติ อาหารเช้าก็ทานตามปกติและรับยาปฏิชีวนะตามปกติในตอนเช้า ในเวลาสายหมอก็เข้ามาแจ้งข่าวดีว่า ค่า P-CRP ของวันนี้ลดลงเหลือแค่ 57 mg/l เราแทบจะร้องออกมาด้วยความดีใจ จากนั้นหมอแจงว่าให้อนุญาตกลับบ้านได้ และเราต้องทานยาปฏิชีวนะสองชนิดต่ออีกสิบวัน วันละหกเม็ด หมอไม่กำหนดให้มีการตรวจติดตามผล เพียงแต่หากมีอาการแทรกซ้อนใดๆ ต้องรีบติดต่อและกลับมารักษาอีกครั้ง จากนั้นจึงให้พยาบาลนำใบสั่งยา ใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบการลาพักงานอีกหนึ่งอาทิตย์ (ระบุชื่อโรค คือ Salpingitis หรือท่อนำไข่อักเสบ) รายงานการผ่าตัดที่เราเคยขอเก็บไว้อ่าน รวมทั้งข้อแนะนำการดูแลตัวเองของคนไข้หลังผ่าตัด ส่วนบิลค่ารักษาพยาบาลนั้น ทางโรงพยาบาลจะส่งให้ทางไปรณีย์ เราก็สามารถชำระโดยการโอนเงินผ่านบัญชีออนไลน์ตามปกติ
หน้าตาของแผลผ่าตัดสิบวันหลังจากการผ่าตัด
จากนั้นพยาบาลจึงถอดเข็มออกจากเส้นเลือดของเรา แล้วอนุญาตให้เปลี่ยนเสื้อผ้า และเก็บของเพื่อเตรียมตัวกลับบ้าน ตอนนั้นดีใจมาก รีบโทร.เรียกพ่อบ้านให้มารับที่โรงพยาบาล หลังจากนั้นก็เตรียมตัวอย่างรวดเร็วและเดินออกจากห้องพักจากมาด้วยรอยยิ้ม มั่นใจว่าอีกหนึ่งอาทิตย์ข้างหน้าเราจะหายเป็นปกติ แม้ว่าช่วงแรกๆยังต้องลุกเดินอย่างช้าๆ เพราะยังมีอาการหน่วงบริเวณท้องน้อยและรอบๆแผลผ่าตัด แต่เชื่อว่าร่างกายของเราสามารถฟื้นตัวได้เร็วเพราะเรามีกำลังใจดี ทั้งจากสามีและลูกชายที่คอยดูแล ครอบครัวสามี และคุณแม่ที่โทร.มาให้กำลังใจทุกวัน รวมถึงน้องๆและเพื่อนๆที่รู้ข่าวแล้วมาเยี่ยมถึงโรงพยาบาลและทุกๆคนที่ส่งข้อความฝากมาให้

 การป่วยแบบเฉียบพลันครั้งนี้สอนให้เรารู้ว่า ในโลกนี้ไม่มีความแน่นอน วันหนึ่งเรายังแข็งแรง แต่อีกวันอาจเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงอย่าเสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องดีกว่า เราควรใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้ม อะไรที่ทำแล้วมีความสุขก็ทำไปเถอะ อยากกินอะไรก็กินไปเถอะ แต่จงอย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท เพราะบางสิ่งบางอย่างนั้นเมื่อสูญเสียไปแล้ว ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ เช่นในกรณีของเราคือ การที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติอีกต่อไป เพราะท่อนำไข่ถูกตัดและกำจัดออกจากร่างกายเสียแล้ว ที่คิดว่าประมาท เพราะเราน่าจะเอะใจและตรวจภายในตั้งแต่ครั้งแรกที่มีอาการเจ็บท้องน้อยแบบกระปริดกระปรอย หลังจากที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากเชื่อสัญชาตญาณของตัวเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน หรือหากหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ บางทีความเจ็บป่วยอาจไม่ลุกลามใหญ่โตจนถึงขั้นผ่าตัดและพักฟื้นนานถึงสองอาทิตย์ และนี่ก็เป็นบทเรียนที่เราได้รับในครั้งนี้เอง

ติดตามอ่านเรื่องราวต่อไปใน ช่วงพักฟื้น ยา และค่ารักษาพยาบาล

รูปส่วนหนึ่งของอาหารที่โรงพยาบาลจัดให้ วันละสี่มื้อ เวลาแปดโมงเช้า สิบเอ็ดโมง
สี่โมงเย็น และทุ่มครึ่ง(อาหารว่าง)



สภาพภายในห้องพักผู้ป่วย พยาบาลได้นำเตียงที่ว่างย้ายออกไปแล้ว ห้องนี้จึงมีเราพักอยู่เพียงลำพัง
 
เตียงที่นอนพักรักษาตัวมาเกือบครบอาทิตย์


ห้องน้ำและตู้เก็บของสำหรับผู้ป่วย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น